Ref. Form Here
คุณกำลังขับรถไปตามถนนที่วุ่นวายของเมืองเล็กๆ ที่สวยงามดุจภาพวาดที่คุณไม่เคยมามาก่อน สัญญาณไฟจราจรเปลี่ยนเป็นสีแดง คุณหยุดรถ แล้วมีหญิงชราคนหนึ่งเดินข้ามทางม้าลายจากทางซ้ายมือของคุณ ทันใดนั้นคุณก็รู้สึกเหมือนกับว่าคุณเคยอยู่ที่นี่มาก่อน...ในรถคันนี้ ที่ทางแยกนี้ และมีหญิงชรากำลังเดินข้ามถนนเช่นนี้ เมื่อเธอเดินมาถึงกันชนหน้ารถของคุณ คุณตระหนักว่าสิ่งต่างๆ ช่างเหมือนกับสิ่งที่คุณกำลังระลึกถึงอยู่ชั่วครู่หนึ่ง แล้วคุณก็รู้ตัวว่าคุณไม่เคยมาที่นี่มาก่อน ความรู้สึกคุ้นเคย(ที่คุณนึกถึง)นี้จึงหายไป
การศึกษามากมายบ่งชี้ว่า 50-90% ของคนเราเคยมีประสบการณ์เดจาวูเช่นนี้อย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงชีวิต เราเคยสัมผัสความรู้สึกคลุมเครือว่าเคยประสบเหตุการณ์หนึ่งมาก่อน ซึ่งเหมือนกันทุกรายละเอียด แม้ว่าเราไม่สามารถบอกได้ว่าเหตุการณ์ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อไร ความรู้สึกดังกล่าวมักจะอยู่นาน 2-3 นาทีเท่านั้น เด็กและวัยรุ่นมักจะสัมผัสเหตุการณ์เหมือนฝันนี้มากกว่าในผู้ใหญ่ แต่คนทุกวัยล้วนเคยสัมผัสกับเดจาวูทั้งสิ้น โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาทั้งเหนื่อยล้าและตื่นตัวเกินไปจากความเครียด มีเพียงบางคนเท่านั้นมีความรู้สึกตรงข้ามกับเดจาวู ซึ่งเรียกว่า jamais vu ซึ่งเมื่อพวกเขาพบกับสถานที่หรือบุคคลที่เหมือนคุ้นเคย พวกเขากลับยืนกรานว่าพวกเขาไม่เคยเห็นบุคลคลหรือสถานที่นั้นมาก่อน
คำว่า “déjà vu” เป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่า “เคยเห็นมาก่อน” อาจจะถูกใช้ครั้งแรกในปี 1876 โดยแพทย์ชาวฝรั่งเศสชื่อ Émile Boirac ในช่วงศตวรรษที่ 20 นักจิตเวชศาสตร์ยอมรับคำอธิบายของเดจาวูที่มีพื้นฐานมาจากทฤษฎีซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) คือ ความพยายามที่จะระลึกถึงความจำที่ถูกปิดบังไว้ ทฤษฎีนี้ยังบ่งชี้อีกว่า เหตุการณ์เดิมอาจจะเชื่อมโยงกับความทุกข์ทนและอาจจะถูกปิดกั้นจากการจดจำตอนที่มีสติอยู่ (conscious recognition) ซึ่งมีการเชื่อมต่อกับความจำช่วงเวลาสั้นๆ เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ที่คล้ายคลึงที่เกิดขึ้นทีหลังอาจจะไม่ทำให้ระลึกออกมาชัดเจนนัก แต่อาจจะทำให้ระลึกถึงเหตุการณ์เดิมโดยคิดไปเอง
หลายคนที่เคยมีประสบการณ์เดจาวูจะมีความคิดผิดๆ เหมือนกันคือ ปรากฏการณ์นี้ต้องเกิดจากพลังลึกลับอะไรสักอย่างหรืออาจจะเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งเมื่อชาติก่อนกลับชาติมาเกิด พวกเขาให้เหตุผลว่าจากความคิดเชิงตรรกะและการรับรู้ที่ชัดเจนที่เกิดขึ้นทันทีทั้งก่อนและหลังปรากฏการณ์ พลังลึกลับบางอย่างเท่านั้นที่เป็นคำอธิบายที่มีเหตุผลที่สุด
นักวิทยาศาสตร์ (ที่ไม่พอใจกับการคาดเดาเช่นนั้น) ได้ค้นหาร่องรอยเกี่ยวกับสาเหตุทางกายภาพเบื้องหลังเดจาวู แต่การตรวจสอบพิสูจน์แล้วว่ามันทำได้ยากมาก เพราะว่าเดจาวูไม่เคยมีสัญญาณการเกิดล่วงหน้าเลย นักวิทยาศาสตร์จึงอาศัย(ถูกบังคับให้ใช้)ความจำของผู้ถูกทดสอบเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อพิจารณาเรื่องราวจำนวนหนึ่ง มันได้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเริ่มให้คำอธิบายได้ว่าเดจาวูคืออะไรและทำไมมันถึงเกิดขึ้นได้
ไม่ใช่ประสาทหลอน
จุดเริ่มต้นจุดหนึ่งคือ การแยกเดจาวูออกจากประสบการณ์การรับรู้ที่ผิดปกติอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ฉากต่างๆ ในเดจาวูไม่ใช่ภาพหลอนประสาท ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตื่นตัวที่มากเกินไปของการมองเห็น การฟัง หรือประสาทสัมผัสอื่นๆ ที่ถูกกระตุ้นโดยความไม่สมดุลภายในสมองไม่ว่าจากความผิดปกติทางจิตหรือสารเคมีที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางเช่น LSD เป็นต้น และมันก็แตกต่างจากความจำเท็จ (false memory, false recognition, Fausse reconnaissance) อีกด้วย ภาวะดังกล่าวมักจะเกิดขึ้นกับโรคจิตเพท (schizophrenia) และเกิดขึ้นนานเป็นชั่วโมง
ผู้ป่วยโรคลมชักจากความผิดปกติของสมองส่วนกลีบขมับ (temporal lobe epilepsy) ก็มีประสบการณ์คล้ายคลึงกับเดจาวูเช่นกันตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยชายในประเทศญี่ปุ่นสารภาพว่า เขากลับมามีชีวิตใหม่บ่อยครั้งตลอดระยะเวลาหลายปีของชีวิตและการแต่งงานของเขา เขาจึงพยายามฆ่าตัวตายครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อหนีวัฏจักรนี้ไป แต่ปรากฏการณ์นี้แตกต่างจากเดจาวูอย่างเด่นชัดคือ คนที่เป็นโรคลมชักจากความผิดปกติของสมองส่วนกลีบขมับจะเชื่อถือประสบการณ์ของตนเองอย่างหนักแน่นว่าเหมือนกับเหตุการณ์ในอดีต ในขณะที่เดจาวู คนๆ คนนั้นจะรู้ทันทีว่ามันคือภาพลวงตาและไม่มีเหตุผล
การสำรวจที่เราทำขึ้นเมื่อหลายปีก่อนกับนักศึกษามากกว่า 220 คนที่มหาวิทยาลัยมาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther University) ในเมืองฮัลวิทเทนแบร์ก (Halle-Wittenberg) ในประเทศเยอรมันแสดงให้เห็นว่า หลังจากพวกเขาเคยมีประสบการณ์เดจาวู นักเรียน 80% สามารถระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่คล้ายคลึงได้ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่พวกเขาลืมไปแล้ว ในเนื้อหาของการสำรวจนี้ นักจิตวิทยาการจดจำ (cognitive psychologist) ได้ให้ความสนใจไปยังกระบวนการตอนที่ไม่รู้สึกตัวอื่นๆ ซึ่งเป็นตัวสร้างความจำที่เกี่ยวกับทักษะและการรับรู้จากประสาทสัมผัสต่างๆ (implicit/declarative memory) ฉากเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราลืมไปนานแล้วและไม่สามารถเรียกกลับมาตอนที่มีสติได้ แม้ว่าพวกมันยังไม่ได้ถูกลบไปจากเครือข่ายเซลล์ประสาทของเราก็ตาม ลองนึกถึงเมื่อเรากำลังมองตู้ถ้วยชามเก่าที่ตลาดนัดอยู่ และทันใดนั้น มันดูคุ้นเคยกับเราอย่างน่าประหลาดเหมือนกับคุณเคยมองเช่นนี้มาก่อน สิ่งที่คุณได้ลืมไปแล้วหรือไม่สามารถเรียกกลับมาได้มากกว่านี้ก็คือตอนคุณยังเล็ก คุณยายของคุณเคยมีตู้เก็บถ้วยชามเหมือนกันนี้ที่บ้านนั่นเอง
ในปี 1963 โรเบิร์ต เอฟรอน (Robert Efron) แห่งโรงพยาบาลทหารผ่านศึกในเมืองบอสตันทดสอบข้อสงสัยนี้ เขาสรุปการทดลองว่า สมองส่วนขมับซีกซ้ายทำหน้าที่แยกแยะข้อมูลที่เข้ามาให้ถูกต้อง เขายังพบอีกว่า พื้นที่นี้รับสัญญาณจากกลไกการมองเห็น 2 ครั้ง ซึ่งห่างกันเพียงไม่กี่มิลลิวินาที โดยสัญญาณหนึ่งเข้ามาโดยตรงและอีกสัญญาณหนึ่งอ้อมมาทางสมองซีกขวา ด้วยเหตุบางประการ เมื่อความล้าข้าเกิดขึ้นที่ทางแยก สมองส่วนขมับซีกซ้ายอาจจะจดเวลาที่เกินมากับสัญญาณที่สองที่มาถึงและอาจจะแปลงสัญญาณเป็นฉากเหมือนกับมันเกิดขึ้นมาแล้ว
ทฤษฎีการรับรู้สองครั้ง (double preception) ของเอฟรอนยังไม่มีการรับรองหรือปฏิเสธแต่อย่างใด แต่พบว่า สมองส่วนหน้ามีบทบาทในการตัดสินใจ ผู้ป่วยบางคนที่สมองส่วนนี้ถูกทำลายรายงานว่าพวกเขามีประสบการณ์เดจาวูบ่อยครั้ง ดังนั้น คนที่เป็นโรคลมชักจากความผิดปกติของสมองส่วนกลีบขมับที่มีอาการคือ การเป็นลม (seizure) จะเกิดขึ้นในสมองส่วนหน้า ซึ่งจะสร้างภาพหลอนประสาทเสมือนจริงที่เหมือนกับความจำ นักวิจัยบางคนจึงคิดว่า เดจาวูเป็นการล้มเหลวของวงจรเล็กๆ ภายในสมองเท่านั้น
การสังเกตการณ์ในช่วงทำศัลยกรรมประสาทยังคงชี้ไปที่สมองส่วนหน้า การสังเกตการณ์อันแรกมาจากนักประสาทศัลยแพทย์ (neurosurgeon) แห่งสถาบันประสาทวิทยามอนทรีอัลชื่อ ไวล์เดอร์ เพนฟิลด์ (Wilder Penfield) ในช่วงปี 1950 ได้ทำการทดลองที่ปัจจุบันเป็นที่นิยมมาก โดยเขากระตุ้นสมองส่วนหน้าด้วยไฟฟ้าระหว่างที่ผ่าตัดเปิดสมอง คนไข้มักรายงานถึงภาวะคล้ายกับฝันและเดจาวูในช่วงการกระตุ้น ผลการทดลองที่คล้ายคลึงกันมาจากรายงานวิจัยปี 1994 ของฌอง บองค็อด (Jean Bancaud) และคณะแห่งศูนย์พอลโบรกา (Paul Broca Center) ในกรุงปารีส การกระตุ้นสมองส่วนหน้าด้านข้างหรือกลางบางครั้งจะกระตุ้นภาวะที่เหมือนฝันรวมถึงเดจาวูในขณะที่ไม่มีสติอีกด้วย
ความจำที่ปราศจากหลายความจำ
แม้ว่ายังมีคำถามว่าการชักนำให้เกิดเดจาวูที่ทำขึ้นมานั้นคล้ายคลึงกับที่เกิดในธรรมดาได้ดีแค่ไหน แต่การค้นหาก็ยังน่าสนใจอยู่ ในที่สุด นักประสาทวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ว่า สมองกลีบขมับส่วนกลาง (medial temporal lobe) เกี่ยวข้องกับความจำเกี่ยวกับทักษะและการรับรู้จากประสาทสัมผัสต่างๆ ขณะมีสติ (declarative, conscious memory) โดยตรง เรายังสามารถพบส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ในสมองส่วนนี้อีกด้วย ฮิปโปแคมปัสช่วยจดจำเหตุการณ์ที่รับเข้ามาเป็นตอนๆ และเป็นไปได้ว่าจิต (mind) ของเราเป็นตัวระลึกถึงเหตุการณ์เหล่านี้ออกทีหลังราวกับว่าเรากำลังดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง
ส่วน parahippocampal gyrus, rhinal cortex และ amygdala ที่อยู่ในสมองส่วนหน้ากลางมีความเกี่ยวข้องกับความจำอย่างมาก ในปี 1997 จอห์น ดี. เกรเบรียลลี (John D. E. Gabrieli) และผู้ช่วยของเขาแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดมีหลักฐานว่า ส่วน hippocampus มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นตัวเก็บเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาตอนที่ยังมีสติอยู่ และส่วน parahippocampal gyrus เป็นตัวแยกแยะการกระตุ้นที่คล้ายกันและไม่คล้ายกัน และกู้ความจำเป็นตอนๆ ของเรากลับมา
หลายพื้นที่ของสมองอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับการสร้างเดจาวูขึ้น เมื่ออารมณ์(ของปรากฏการณ์นี้)ที่เกิดขึ้น (ซึ่งถูกกระตุ้นโดยความรู้สึกแปลกใจจากตัวเองและจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเช่นเดียวกับการสูญเสียการรับรู้เรื่องเวลา) บ่งชี้ว่ามีกระบวนการที่ซับซ้อนกำลังทำงานอยู่ เมื่อเดจาวูเกิดขึ้น เราจะสงสัยถึงความเป็นจริงสักครู่หนึ่ง สำหรับนักประสาทวิทยาศาสตร์แล้ว ความผิดพลาดเล็กน้อยเหล่านี้ให้ความเข้าใจที่ไม่คุ้มค่าสำหรับงานทางด้านสมปฤดีหรือความรู้สึกตัว (consciousness) เลย งานวิจัยเรื่องปรากฏการณ์เดจาวูต่อๆ ไปจะช่วยอธิบายไม่เฉพาะว่าเราหลอกลวงความจำเราได้อย่างไรเท่านั้น แต่ยังช่วยบอกว่าสมองสามารถสร้างสิ่งลวงตาเสมือนจริงได้อย่างไรอีกด้วย
ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเสนอว่า เราอาจจะรับรู้ถึงตัวบุคคล สถานที่ หรือเหตุการณ์ที่คุ้นเคยได้ถ้าช่วงชีวิตเราก่อนหน้านี้เคยสัมผัสกับประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันเพียงส่วนหนึ่ง แม้ว่ามันจะมีรายละเอียดต่างกันก็ตาม บางทีเมื่อเรายังเด็ก แม่ของคุณเคยแวะที่ตลาดนัดขณะที่ไปเที่ยวพักร้อนกันและร้านค้าหนึ่งกำลังร้องขายตู้ถ้วยชามอยู่ หรือบางทีคุณอาจจะเคยได้กลิ่นที่เกิดในตลาดนัดที่คุณเคยไปในช่วงวัยเด็ก องค์ประกอบเดียว (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ติดอยู่ในช่วงที่คุณยังมีสติอยู่) สามารถกระตุ้นความรู้สึกคุ้นเคยได้จากความผิดพลาดในการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบ(ในฉาก)ในปัจจุบัน
ความสนใจที่ไม่เพียงพอ
สมมติฐานเหล่านี้ซึ่งพบได้ในกระบวนจัดการข้อมูลในช่วงไม่มีสติมีผลต่อการเกิดเดจาวูในช่องว่างของระบบความสนใจเช่น คุณกำลังขับรถไปตามถนนที่ติดขัดและคุณกำลังจดจ่อกับการไหลของรถ หญิงชราคนหนึ่งกำลังยืนอยู่บนทางเดิน คุณเห็นเธอด้วยภาพทางด้านข้าง(มองด้วยหางตาน่ะครับ) แต่คุณไม่ได้สนใจเธอ หนึ่งวินาทีต่อมา คุณได้หยุดรถที่ทางแยก ตอนนี้คุณมีเวลาที่มองไปรอบๆ ขณะที่คุณจ้องหญิงชราที่กำลังค่อยๆ เดินลงจากทางเดินมายังทางม้าลาย ทันใดนั้นหญิงชราคนนั้นช่างดูคุ้นเคย แม้ว่าคุณไม่เชื่อว่าคุณเคยเห็นเธอมาก่อนและคุณรู้ว่าคุณไม่เคยอยู่ที่สี่แยกนี้มาก่อนก็ตาม จะเห็นว่าภาพแรกของหญิงชราที่คุณรับรู้ในช่วงที่วอกแวกถูกตามด้วยภาพที่สองขณะที่คุณอยู่ในช่วงตื่นตัวอย่างเต็มที่ เนื่องจากข้อมูลที่รับไม่ได้อยู่ในความสนใจตอนที่มีสติก่อนหน้านี้ ทำให้มันถูกแปลความหมายผิดกลายเป็นความจำระยะยาว
การศึกษาหลายอันในเรื่องความตื่นตัวของจิตใต้สำนึกได้สนับสนุนทฤษฎีนี้ ในปี 1989 ทีมที่นำโดยนักจิตวิทยาชื่อแลร์รี แอล. จาโคบี (Larry L. Jacoby) ซึ่งตอนนี้อยู่ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตันได้ให้ผู้ถูกทดสอบรวมกันอยู่ในห้องและฉายภาพขึ้นจอที่มีคำเพียงหนึ่งคำอย่างรวดเร็ว มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับคนดูที่จะจดจำคำนั้นได้ แต่ร่องรอยจากการมองเห็นจะถูกบันทึกไว้สักที่หนึ่งภายในศูนย์กลางการมองเห็นในสมอง หลังจากนั้น เมื่อจาโคบีฉายภาพเดิมอีกครั้งในระยะเวลาที่นานขึ้น ผู้ถูกทดสอบอ้างอีกครั้งว่าเคยเห็นคำนี้มาก่อน การดำเนินการของตัวกระตุ้นใต้ระดับในภาวะที่ไม่มีสติทำให้ตัวกระตุ้นที่คล้ายคลึงที่รับรู้ทีหลังถูกดำเนินการด้วยอัตราที่เร็วขึ้นมาก กระบวนการนี้เรียกว่า การเตรียมพร้อม (priming) ซึ่งได้มีการวิจัยอย่างกว้างขวาง
การเตรียมพร้อมและวิธีการอื่นๆ ดูเหมือนจะเหมาะสมกับโอกาสทั่วไปที่จะเกิดเดจาวู ในช่วงต้นปี 1990 เจอราร์ด เฮย์แมนส์ (Gerard Heymans) ผู้ก่อตั้งวิชาจิตวิทยาในประเทศเนเธอแลนด์ได้ติดตามนักเรียน 42 คนเป็นเวลา 6 เดือน นักเรียนเหล่านี้ได้ตอบแบบสอบถามอย่างรวดเร็วภายหลังจากเกิดเดจาวูขึ้น เฮย์แมนส์สรุปว่า คนที่มีอารมณ์ขึ้นลงหรือไร้อารมณ์เป็นพักๆ เช่นเดียวกับคนที่มีรูปแบบการทำงานไม่แน่นอนจะมีโอกาสเกิดเดจาวูขึ้นได้มากกว่า ผู้สังเกตอื่นๆ ได้รายงานว่า พวกเขามีแนวโน้มเกิดเดจาวูมากขึ้นเมื่อพวกเขารู้สึกเหนื่อยล้ามากและมีความเครียดสูง
ในการศึกษาอื่นที่ทำขึ้นในเมืองฮัลวิทเทนแบร์กในปัจจุบัน 46% ของนักเรียนกล่าวว่า พวกเขาอยู่ในช่วงผ่อนคลายเมื่อเดจาวูเกิดขึ้น โดย 1 ใน 3 อธิบายว่าถึงสภาวะของพวกเขาว่ามีความสุข ดูเหมือนว่าขณะที่เดจาวูอาจจะถูกกระตุ้นในช่วงที่มีความตึงเครียดสูงสุดเมื่อคนๆ หนึ่งกำลังตื่นตัวสุดขีด แต่มีความเป็นไปได้มากกว่าเมื่อคนๆ หนึ่งเหนื่อยล้าและความสนใจเริ่มลดลง งานวิจัยชิ้นใหม่ยังบ่งชี้ว่า เดจาวูอาจจะเกิดขึ้นในคนที่หมกหมุ่นเรื่องความเพ้อฝันและฝันกลางวันได้มากกว่า
การมองเห็นที่ล่าช้า
การเข้าใจถึงหลักการทางประสาทวิทยาของเดจาวูอาจจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบตัวกระตุ้น แต่เราเข้าใจการเชื่อมต่อของระบบประสาทเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น หลายปีมาแล้ว ทฤษฎีหนึ่งที่โด่งดังได้เสนอว่า เดจาวูเกิดมาจากการส่งถ่ายข้อมูลทางประสาทวิทยาที่ล่าช้า เมื่อเรารับรู้ ชิ้นส่วนข้อมูลต่างๆ จากระบบหรือกลไกทางประสาทต่างๆ จะเข้ามาในศูนย์จัดการข้อมูลภายในเซเรบรัมแล้วรวมชิ้นส่วนมูลต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อสร้างเป็นความรู้สึกหนึ่งขึ้นมา มันสมเหตุสมผลว่า ความล่าช้าจากการส่งถ่ายข้อมูลอาจจะทำให้เกิดควสามผิดพลาดแล้วสร้างเป็นเดจาวูขึ้นมา
แปลและเรียบเรียงจาก
Strangely Familiar: Researchers are starting to pin down what déjà vu is and why it arises. But have you read this already? Maybe you just can't remember
By Uwe Wolfradt
วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2550
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น